google-site-verification=se7lEDMNecWhftHMM3JqyxsSZmGSChR8b2p4pNuJx7c dental cosmetic phuket คลินิกฟันภูเก็ต เพื่อความสวยงามของฟัน

RHD Office: +66 76-234-024

ทันตกรรมบูรณะเพื่อความสวยงามและรากเทียม

ใคร ใคร ก็อยากมีฟันสวย และยิ้มงามๆ ปัจจุบัน มีเทคโนโลยีทางทันตกรรมที่หลากหลาย สามารถสร้างรอยยิ้มที่สวยงาม ควบคู่ไปกับสุขภาพฟันที่แข็งแรง ภายใต้การดูแลของทีมทันตแพทย์ในแต่ละสาขา

การผนวกงานทันตกรรมในแต่ละสาขา เพื่อปรับเปลี่ยน สีฟัน, ผิวฟัน, รูปร่างฟัน, หรือการเรียงตัวของฟัน จัดเป็นการบูรณะฟันเพื่อความสวยงาม โดยใช้ศาสตร์และศิลป์ จากงานทันตกรรมในด้านต่างๆ ดังนี้

การฟอกสีฟัน เป็นการปรับเปลี่ยน สีฟันให้ขาวขึ้น โดยทันตแพทย์และผู้รับการรักษา สามารถร่วมกันกำหนดระดับความขาวที่ต้องการได้ ซึ่งขึ้นกับการเลือกวิธีการฟอกสีฟัน ดังนี้

  • การฟอกสีฟันโดยทันตแพทย์ (In-office Bleaching)
  • การฟอกสีฟันด้วยตนเอง (Home Bleaching )
  • การฟอกสีฟันร่วม (In-office Bleaching และ Home Bleaching )

การฟอกสีฟันโดยทันตแพทย์
เป็นการฟอกสีฟันในคลินิกทันตกรรม โดยใช้แสงในระดับความยาวคลื่นที่แตกต่างกันไปในเครื่องฟอกสีฟันแต่ละชนิด แสงเหล่านี้จะกระตุ้นปฏิกิริยาของสารฟอกสีฟันบนผิวเคลือบฟัน โดยมีขั้นตอนการทำ ดังนี้

  • ทันตแพทย์ตรวจสุขภาพช่องปาก และบันทึกสีฟันก่อนการรักษา
  • ทันตแพทย์ให้ข้อมูลเกี่ยวกับเครื่องฟอกสีฟันแต่ละชนิด และกำหนดระดับความขาว ที่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ในขั้นต่ำ
  • หากผิวฟันมีคราบหินปูน หรือคราบสีอาหาร จำเป็นต้องได้รับการขูดหินปูนก่อนการฟอกสีฟัน
  • การขัดฟันเพื่อกำจัดแผ่นคราบจุลินทรีย์
  • การป้องกันเหงือก และบริเวณรอบๆ ด้วยเรซิน
  • การทาน้ำยาฟอกสีฟันลงบนผิวฟัน
  • การฉายแสงจากเครื่องฟอกสีฟันเพื่อกระตุ้นปฏิกิริยาของน้ำยาฟอกสีฟัน โดยในขั้นตอนนี้ใช้เวลาประมาณ 45 นาที ถึง 1:30 ชั่วโมง ขึ้นอยู่กับเครื่องฟอกสีฟันแต่ละชนิด

  • การเคลือบผิวฟันด้วยฟลูออไรด์เจล หรือ แคลเซียมเจล

เครื่องฟอกสีฟันที่เขารังทันตคลินิก

  • ZOOM

  • PLASMA ARC

การฟอกสีฟันด้วยตนเอง
เป็นการฟอกสีฟัน โดยใช้สารฟอกสีฟันที่มีความเข้มข้นต่ำกว่าการฟอกสีฟันโดยทันตแพทย์ แต่ใช้ระยะเวลาในการฟอกสีฟันนานขึ้น มีขั้นตอนการทำ ดังนี้

  • ทันตแพทย์ตรวจสุขภาพช่องปาก และบันทึกสีฟันก่อนการรักษา
  • หากผิวฟันมีคราบหินปูน หรือคราบสีอาหาร จำเป็นต้องได้รับการขูดหินปูนก่อนการฟอกสีฟัน
  • หากผิวฟันมีรอยผุ หรือรอยสึก ในตำแหน่งที่อาจจะมีการสัมผัสกับน้ำยาฟอกสีฟัน จำเป็นต้องได้รับการอุดซ่อมแซมก่อนการฟอกสีฟัน
  • ทันตแพทย์พิมพ์ปาก เพื่อทำแบบจำลองฟัน โดยใช้เวลาในการพิมพ์ปากเพียง 2 นาที
  • ช่างทันตกรรมจะทำถาดฟอกสีฟันจากแบบจำลองฟัน โดยใช้เวลา 1:30 ชั่วโมง
  • ทันตแพทย์ลองถาดฟอกสีฟัน และปรับแต่งให้พอดีกับเนื้อเยื่อในช่องปากของผู้รับการรักษา
  • ทันตแพทย์ แนะนำวิธีการใช้ชุดฟอกสีฟัน รวมทั้งการดูแลรักษาความสะอาด
  • ผู้รับการรักษา สามารถเริ่มต้นการฟอกสีฟันด้วยตนเองที่บ้าน โดยการหยดน้ำยาลงในถาดฟอกสีฟัน และสวมใส่ถาดฟอกสีฟันไว้ตามระยะเวลาที่กำหนด (½ - 2 ชั่วโมง สำหรับน้ำยา 35% และ 4 – 8 ชั่วโมง สำหรับน้ำยา 10% - 20% )
  • ผู้รับการรักษา ควรฟอกสีฟันด้วยตนเองอย่างต่อเนื่องในช่วงแรก ตามที่ทันตแพทย์กำหนด เพื่อประสิทธิภาพในการเปลี่ยนแปลงสีฟันตามที่ท่านคาดหวัง

ข้อควรปฏิบัติหลังเข้ารับการฟอกสีฟัน

  • ควรทำความสะอาดฟัน โดยการแปรงฟันหลังมื้ออาหารทุกครั้ง และใช้ไหมขัดฟันอย่างน้อยวันละ 1 ครั้ง เพื่อป้องกันการติดของสีจากอาหาร และแผ่นคราบจุลินทรีย์ลงบนผิวฟัน
  • กรณีฟอกสีฟันโดยทันตแพทย์ ควรงดการรับประทานอาหาร และเครื่องดื่มที่ก่อให้เกิดคราบสีบนผิวฟัน เป็นเวลาอย่างน้อย 2 วัน หลังการฟอก เช่น ชา, กาแฟ, ช็อกโกแลต, ไวน์แดง และอาหารที่มีสีดำคล้ำทุกชนิด รวมทั้งควรงดสูบบุหรี่อย่างน้อย 2 วัน เช่นกัน
  • ในระหว่าง หรือหลังการฟอกสีฟัน 1 – 2 วัน อาจมีอาการเสียวฟันเกิดขึ้นได้ ขึ้นอยู่กับสภาพผิวฟัน โดยเฉพาะผิวฟันที่มีรอยสึก รอยร้าว หรือมีปัญหาเหงือกร่น แต่อาการดังกล่าวจะลดลง และหายได้เองภายใน  1 – 2 วัน หลังการฟอกสีฟัน
  • หลังการฟอกสีฟัน ระดับสีไม่ได้ขาวคงที่ตลอดไปขึ้นอยู่กับอาหารที่รับประทาน และการดูแลทำความสะอาดสุขภาพช่องปาก การฟอกสีฟันด้วยตนเอง (Home bleaching) โดยใช้น้ำยาในปริมาณน้อยอย่างต่อเนื่องทุก 6 – 12 เดือนจะส่งผลให้ระดับสี ขาวคงที่

การทำเคลือบฟัน เป็นการเปลี่ยนผิวหน้าของฟันโดยใช้วัสดุหรือชิ้นงานทางทันตกรรม นำมายึดติดกับผิวเคลือบฟันด้านหน้าที่ได้รับการกรอแต่งแล้ว เพื่อปรับปรุงในด้านความสวยงามของสีฟัน, ผิวฟัน, รูปร่างฟันและการเรียงตัวของฟัน ในกรณีต่าง ๆ ดังนี้

  • ฟันที่มีการเปลี่ยนสีซึ่งเกิดจากการตายของฟัน
  • ฟันดำคล้ำจากการรับประทานยาปฎิชีวนะ
  • ฟันที่มีการสึกกร่อน บิ่น หรือแตกหักไม่เกินหนึ่งในสามของตัวฟันเดิม
  • ฟันที่มีรูปร่างเล็กผิดปกติแต่กำเนิด
  • กรณีที่มีช่องว่างระหว่างฟัน
  • ฟันที่มีการเรียงตัวบิดเบี้ยวเล็กน้อย

ประเภทของเคลือบฟัน

  • คอมโพสิทเรซิน เป็นการใช้วัสดุอุดคอมโพสิทเรซิน ตกแต่งบนผิวหน้าฟัน ขั้นตอนการทำเหมือนกับการอุดฟันคอมโพสิทเรซิน ใช้เวลาในการทำประมาณ 40 นาที ต่อซี่
  • เซรามิค มีความโปร่งแสง แลดูเป็นธรรมชาติ และมีอายุการใช้งานยาวนานกว่าคอมโพสิทเรซิน แต่จะใช้เวลาในการทำมากขึ้น ตามขั้นตอนดังนี้

    1. กรอแต่งผิวฟันด้านหน้า ภายใต้ยาชาเฉพาะที่
    2. พิมพ์ปากเพื่อทำแบบจำลองฟัน และส่งแบบจำลองฟันไปยังห้องแล็ป เพื่อให้ช่างทันตกรรมทำชิ้นงานเคลือบฟันเซรามิค
    3. ยึดติดเคลือบฟันชนิดชั่วคราว สำหรับใช้งานประมาณ 5 – 7 วัน
    4. หลังจาก 5 – 7 วัน ทันตแพทย์ลองชิ้นงานเคลือบฟันเซรามิค และปรับแต่งให้เหมาะสมกับสภาพการสบฟันของผู้รับการรักษา
    5. ยึดติดเคลือบฟันอย่างถาวรด้วยเรซินซีเมนต์

ข้อควรปฏิบัติและการดูแลหลังเข้ารับการเคลือบผิวฟัน

  • หากเคลือบฟันด้วยเซรามิค ควรหลีกเลี่ยงการกัดเคี้ยวอาหารในตำแหน่งฟันซี่นั้นๆ เป็นเวลา 24 ชั่วโมง หลังการยึดติด
  • อาจมีอาการเสียวฟันหรือเหงือกบวมเกิดขึ้นได้ ในผู้รับการรักษาบางท่าน ซึ่งอาการดังกล่าวจะหายได้เองภายในเวลาไม่นาน และท่านสามารถหลีกเลี่ยงอาการเหล่านี้ได้โดย
    1. บ้วนปากด้วยน้ำเกลือหลังการแปรงฟันทุกครั้ง
    2. หลีกเลี่ยงการดื่ม หรือรับประทานอาหารที่เย็น หรือร้อนจัด
  • ควรระมัดระวังและหลีกเลี่ยงการกัดเคี้ยวอาหารแข็งบริเวณฟันซี่ที่ได้รับการเคลือบฟัน
  • ควรทำความสะอาดโดยการแปรงฟันหลังมื้ออาหารทุกครั้ง และใช้ไหมขัดฟันอย่างน้อยวันละ 1 ครั้ง
  • ควรตรวจสุขภาพฟันโดยทันตแพทย์ทุก 6 เดือน

การทำครอบฟันเป็นการบูรณะฟัน โดยใช้ชิ้นงานทางด้านทันตกรรมออกแบบให้เป็นรูปร่างฟัน และสวมทับลงบนตัวฟันที่ได้รับการกรอแต่งโดยรอบ ในกรณีต่าง ๆ เหล่านี้

  • ฟันมีรอยร้าว และเริ่มมีอาการเสียวฟันขณะรับประทานอาหาร
  • ฟันที่มีวัสดุอุดฟันขนาดใหญ่
  • ฟันที่มีการแตกหักหรือบิ่นจากการใช้งานหรือจากอุบัติเหตุ
  • ฟันที่ได้รับการรักษารากฟัน
  • ฟันที่มีรูปร่างหรือเนื้อฟันผิดปกติ
  • ฟันที่มีการเรียงตัวผิดปกติ
  • เพื่อเป็นการฟื้นฟูและบูรณะระดับการสบฟันให้เป็นปกติ
  • เพื่อเป็นส่วนประกอบในการทำสะพานฟันและฝังรากเทียม

ประเภทของครอบฟัน
ครอบฟันแบ่งออกได้เป็น 3 ชนิดหลัก คือ

  • ครอบฟันเซรามิก (All Ceramic Crown) เป็นครอบฟันที่ทำด้วยเซรามิกล้วน ไม่มีส่วนของโลหะ เหมาะสำหรับฟันหน้าที่ต้องการความสวยงาม เนื่องจากมีความใส สวยงาม เหมือนธรรมชาติ

  • ครอบฟันโลหะ (All Metal Crown) เป็นครอบฟันที่ทำด้วยโลหะผสมชนิดเดียวกันทั้งชิ้น จึงมีความแข็งแรงไม่มีการแตกหัก

  • ครอบฟันโลหะเคลือบด้วยเซรามิก(Porcelain fused to metal Crown) เป็นครอบฟันที่ใช้โลหะเป็นแกนด้านใน แล้วเคลือบด้านนอกด้วยเซรามิก

ขั้นตอนการทำครอบฟัน

  • กรอแต่งผิวฟันโดยรอบ ภายใต้ยาชาเฉพาะที่

  • พิมพ์ปากเพื่อทำแบบจำลองฟัน และส่งแบบจำลองฟันไปยังห้องแล็ป เพื่อให้ช่างทันตกรรมทำชิ้นงานครอบฟัน
  • ยึดติดครอบฟันชนิดชั่วคราว สำหรับใช้งานประมาณ 5 – 7 วัน
  • หลังจาก 5 – 7 วัน ทันตแพทย์ลองชิ้นงานครอบฟัน และปรับแต่งให้เหมาะสมกับสภาพการสบฟันของผู้รับการรักษา
  • ยึดติดครอบฟันอย่างถาวรด้วยวัสดุยึดติดทางทันตกรรม

ข้อควรปฏิบัติและการดูแลหลังเข้ารับการทำครอบฟัน

  • ควรหลีกเลี่ยงการกัดเคี้ยวอาหารแข็งในตำแหน่งฟันซี่ที่ครอบ เป็นเวลา 24 ชั่วโมง หลังการยึดติด
  • อาจมีอาการเสียวฟันหรือเหงือกบวมเกิดขึ้นได้ ในผู้รับการรักษาบางท่าน ซึ่งอาการดังกล่าวจะหายได้เองภายในเวลาไม่นาน และท่านสามารถหลีกเลี่ยงอาการเหล่านี้ได้โดย
    1. บ้วนปากด้วยน้ำเกลือหลังการแปรงฟันทุกครั้ง
    2. หลีกเลี่ยงการดื่ม หรือรับประทานอาหารที่เย็น หรือร้อนจัด
  • ควรหลีกเลี่ยงการกัดเคี้ยวอาหารแข็ง เช่น น้ำแข็ง, กระดูกอ่อน, ถั่วแข็งๆ ในกรณีที่ใช้ครอบฟันชนิดเซรามิก หรือ โลหะเคลือบเซรามิก เพราะเซรามิกอาจบิ่นหรือแตกออกได้
  • ควรทำความสะอาดโดยการแปรงฟันหลังมื้ออาหารทุกครั้ง และใช้ไหมขัดฟันอย่างน้อยวันละ 1 ครั้ง
  • ควรตรวจสุขภาพฟันโดยทันตแพทย์ทุก 6 เดือน

สะพานฟัน เป็นชิ้นงานทางทันตกรรม ที่ใช้สำหรับทดแทนฟันที่สูญเสียไป โดยมีการครอบยึดติดกับฟันซี่ข้างเคียงทั้งสองข้าง และฟันปลอมเชื่อมอยู่ในตำแหน่งกลางของครอบฟัน

ประเภทของสะพานฟัน
สะพานฟันแบ่งออกได้เป็น 3 ชนิดหลัก ตามชนิดของวัสดุที่ใช้ทำครอบฟัน ดังนี้

  • สะพานฟันเซรามิกล้วน (All ceramic bridge)
    เป็นสะพานฟันที่ทำด้วยเซรามิกล้วน ไม่มีส่วนผสมโลหะ เหมาะสำหรับฟันหน้าที่ต้องการความสวยงาม เนื่องจากมีความใส สวยงาม เหมือนฟันธรรมชาติ

  • สะพานฟันโลหะล้วน (All metal bridge)
    เป็นสะพานฟันที่ทำด้วยโลหะผสมชนิดเดียวกันทั้งชิ้น จึงมีความแข็งแรงทนต่อแรงบดเคี้ยวได้ดี

  • สะพานฟันโลหะเคลือบด้วยเซรามิก (Porcelain fused to metal bridge)
    เป็นสะพานฟันที่ใช้โลหะเป็นแกนด้านใน แล้วเคลือบด้านนอกด้วยเซรามิก

ขั้นตอนการทำสะพานฟัน

  • กรอแต่งฟันในตำแหน่งฟันหลัก ที่ใช้ยึดสะพานฟัน ภายใต้ยาชาเฉพาะที่
  • พิมพ์ปากเพื่อทำแบบจำลองฟัน และส่งแบบจำลองฟันไปยังห้องแล็ป เพื่อให้ช่างทันตกรรมทำชิ้นงานสะพานฟัน
  • ยึดติดสะพานฟันชนิดชั่วคราว สำหรับใช้งานประมาณ 5 - 7 วัน
  • หลังจาก 5 - 7 วัน ทันตแพทย์ลองชิ้นงานสะพานฟัน และปรับแต่งให้เหมาะสมกับสภาพการสบฟันของผู้รับการรักษา
  • ยึดติดสะพานฟันอย่างถาวรด้วยวัสดุทางทันตกรรม

ข้อควรปฏิบัติและการดูแลหลังเข้ารับการทำสะพานฟัน

  • ควรหลีกเลี่ยงการกัดเคี้ยวอาหารในตำแหน่งสะพานฟัน หลังการยึดติดเป็นเวลา 24 ชั่วโมง
  • อาจมีอาการเสียวฟัน หรือเหงือกบวม เกิดขึ้นได้ในผู้รับการรักษาบางท่าน ซึ่งอาการดังกล่าวจะหายได้เองภายในเวลาไม่นาน และท่านสามารถหลีกเลี่ยงอาการเหล่านี้ได้โดย
    1. บ้วนปากด้วยน้ำเกลือ หลังการแปรงฟันทุกครั้ง
    2. หลีกเลี่ยงการดื่ม หรือรับประทานอาหารที่เย็นจัดหรือร้อนจัด
  • ควรหลีกเลี่ยงการกัดเคี้ยวอาหารแข็ง เช่น น้ำแข็ง, กระดูกอ่อน, ถั่วแข็งๆ ในกรณีที่ใช้สะพานฟันชนิด เซรามิก หรือโลหะเคลือบเซรามิก เพราะเซรามิกอาจมีการบิ่นหรือแตกออกได้
  • ควรทำความสะอาดโดยการแปรงฟันหลังมื้ออาหารทุกครั้งและใช้ไหมขัดฟันอย่างน้อยวันละ 1 ครั้ง
  • ควรตรวจสุขภาพฟันโดยทันตแพทย์ทุก 6 เดือน

การฝังรากเทียม เป็นวิทยาการทางทันตกรรมที่ทดแทนการสูญเสียฟันธรรมชาติ โดยฝังวัสดุที่มีรูปร่างคล้ายรากฟันลงบนกระดูกขากรรไกร เพื่อช่วยให้ฟันปลอมภายในช่องปาก ทั้งชนิดถอดได้และชนิดติดแน่นยึดเกาะได้ดี และมีข้อดีที่ช่วยกระจายแรงบดเคี้ยวลงบนกระดูกขากรรไกร เปรียบเสมือนรากฟันธรรมชาติที่ป้องกันไม่ให้มีการละลายตัวของกระดูกขากรรไกรจากการสูญเสียฟันไป

ทันตกรรมรากเทียมประกอบด้วย 3 ส่วนหลักที่สำคัญ คือ

  • รากเทียม เป็นวัสดุที่ทำจากโลหะไททาเนียม ทำหน้าที่ทดแทนรากฟัน ซึ่งฝังอยู่ในกระดูกขากรรไกร และกระดูกจะสร้างเนื้อเยื่อเข้ามายึดติดกับรากเทียมได้แน่น โดยไม่ทำให้เนื้อเยื่ออักเสบ และไม่เกิดผลข้างเคียงใดๆ ต่อกระดูกโดยรอบ
  • แกนหลัก เป็นวัสดุที่ใส่ในรากเทียม เพื่อเป็นแกนสำหรับรองรับฟันปลอม ซึ่งมีหลากหลายชนิดขึ้นอยู่กับลักษณะของฟันปลอม
  • ฟันปลอม เป็นส่วนที่ลอกเลียนรายละเอียดของฟันธรรมชาติ ซึ่งอาจจะเป็นครอบฟัน, สะพานฟัน หรือ ฟันปลอมชนิดถอดได้

ประเภทของทันตกรรมรากเทียม
รากเทียม เป็นวิทยาการที่นำมาใช้ในงานทันตกรรม ได้ 3 รูปแบบ ดังนี้

  • ทันตกรรมรากเทียม สำหรับงานฟันปลอมชนิดติดแน่น เช่น ครอบฟัน, สะพานฟัน ใช้ระยะเวลา 3-6 เดือน

  • ทันตกรรมรากเทียม สำหรับงานฟันปลอมชนิดถอดได้ เช่น ฟันปลอมอะคลิริค, ฟันปลอมโครงโลหะ ใช้ระยะเวลา 3-6 เดือน

  • ทันตกรรมรากเทียมสำหรับใช้งานได้ทันที เหมาะสำหรับการทำฟันปลอมเพียง 1 ซี่ ในตำแหน่งที่ไม่ได้รับแรงในการบดเคี้ยว ใช้เวลาเพียง 1 วัน-3 สัปดาห์

ขั้นตอนการทำรากเทียม

  • ทันตแพทย์สอบถามถึงประวัติโรคประจำตัวและพฤติกรรมการสูบบุหรี่ เนื่องจากโรคประจำตัวบางชนิด เช่น โรคเบาหวาน, โรคทางกระดูกบางอย่าง, การฉายรังสีรักษาบริเวณใบหน้า หรือการสูบบุหรี่ อาจส่งผลเสียต่อการยึดติดของรากเทียม
  • ทันตแพทย์ตรวจสุขภาพช่องปาก และบันทึกภาพถ่ายรังสี เพื่อประเมินถึงการดูแลสุขภาพช่องปากของคนไข้ และประเมินความหนาของกระดูกที่รองรับรากเทียม
  • การผ่าตัดฝังรากเทียมลงในกระดูกขากรรไกร ภายใต้ยาชาเฉพาะที่ โดยใช้เวลาในการผ่าตัดประมาณ 1-2 ชั่วโมง หลังจากนั้น รอให้มีการสร้างเนื้อเยื่อกระดูกยึดติดกับรากเทียม ประมาณ 3-6 เดือน ซึ่งขึ้นอยู่กับคุณภาพของกระดูกขากรรไกร

  • เมื่อมีการยึดแน่นของรากเทียม ทันตแพทย์จะต่อส่วนแกนหลักเข้ากับรากเทียม และรอให้เหงือกบริเวณรอบแกนหลักปรับสภาพเนื้อเยื่อ ประมาณ 1-2 สัปดาห์

  • ทันตแพทย์พิมพ์ปากเพื่อทำฟันปลอม ซึ่งใช้ระยะเวลาประมาณ 1-3 สัปดาห์ (ขึ้นอยู่กับชนิดของฟันปลอม)
  • ทันตแพทย์ยึดหรือสวมใส่ฟันปลอมลงบนแกนหลัก และแนะนำวิธีการดูแลทำความสะอาด

ข้อควรปฏิบัติและการดูแลหลังการฝังรากเทียม

  • ภายใน 1 สัปดาห์แรก หลังการผ่าตัด ควรรับประทานอาหารอ่อน และหลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่
  • อาจมีอาการเจ็บหรือบวมบริเวณที่ทำการผ่าตัด ภายใน 1 สัปดาห์แรก ซึ่งท่านสามารถหลีกเลี่ยงอาการดังกล่าวได้โดย
    1. ประคบเย็นในช่วง 48 ชั่วโมงแรกหลังการผ่าตัด
    2. ประคบอุ่นหลังการผ่าตัด 48 ชั่วโมง
    3. บ้วนปากด้วยน้ำเกลือ หลังการแปรงฟันทุกครั้ง
    4. รับประทานยาตามที่ทันตแพทย์แนะนำ
  • หลีกเลี่ยงการกัดเคี้ยวอาหารในตำแหน่งที่ฝังรากเทียม ภายใน 3 เดือนแรก เพื่อป้องกันแรงกระแทก ที่อาจจะมีผลต่อการสร้างเนื้อเยื่อติดกับรากเทียม
  • ควรทำความสะอาด โดยการแปรงฟันหลังมื้ออาหารทุกครั้ง โดยเน้นในตำแหน่งที่ทำการฝังรากเทียมด้วยแปรงขนนุ่ม และใช้ไหมขัดฟันได้ตามปกติเหมือนฟันธรรมชาติ อย่างน้อยวันละ 1 ครั้ง
  • ควรหลีกเลี่ยง การรับประทานอาหารที่มีความแข็ง และเหนียวมากเกินไป
  • ควรตรวจสุขภาพฟันโดยทันตแพทย์ทุก 6 เดือน

การอุดฟันด้วยวัสดุอุดสีใกล้เคียงกับฟัน เป็นวิทยาการทางด้านทันตกรรมที่บูรณะหรือทดแทนเนื้อฟันที่สูญเสียไปบางส่วน หรือมีสภาพที่ไม่สมบูรณ์ โดยใช้วัสดุอุดที่มีกลุ่มสีใกล้เคียงฟันธรรมชาติ ตกแต่งลงบนโพรงฟันหรือผิวฟันให้มีรูปร่างใกล้เคียงกับธรรมชาติ

กรณีใดบ้างที่จะบูรณะโดยการอุดฟัน

  • ฟันผุที่ยังไม่ลุกลามถึงชั้นโพรงประสาทฟัน
  • ฟันบิ่นหรือแตกหักจากอุบัติเหตุ
  • ฟันที่สึกกร่อนจากการใช้งาน เช่น ฟันสึกจากอาหารที่เป็นกรด, คอฟันสึกจากการแปรงฟันผิดวิธี

  • ฟันที่มีช่องห่างระหว่างซี่ฟัน
  • การอุดปิดผิวหน้าฟัน (เคลือบฟัน) ในฟันที่มีความผิดปกติของสีฟัน ผิวฟันหรือรูปร่างฟัน

ประเภทของวัสดุอุด

  • อมัลกัม เป็นวัสดุอุดที่มีส่วนผสมของโลหะ ผิววัสดุอุดมีความแข็งแรง สามารถรองรับการบดเคี้ยวได้ดี และอัตราการสึกกร่อน การรั่วซึมต่ำ จึงทำให้มีอายุการใช้งานที่ยาวนานกว่าวัสดุอุดชนิดอื่น ๆ แต่มีข้อด้อยในด้านความสวยงาม เนื่องจากเป็นสีโลหะ และอาจทำให้เนื้อฟันบริเวณรอบวัสดุอุดเปลี่ยนสีเป็นสีเทาได้ในภายหลังรวมถึงมีส่วนผสมของปรอทที่ไม่ปลอดภัยต่อสิ่งแวดล้อม

  • คอมโพสิท เรซิน เป็นวัสดุอุดจำพวกเรซิน มีเฉดสีที่ใกล้เคียงฟันธรรมชาติ มีให้เลือกได้หลากหลายเฉดสี การยึดวัสดุอุดบนผิวฟันเป็นการยึดแบบพันธะเคมี ( chemical lock ) จึงไม่จำเป็นต้องกรอตัดเนื้อฟันมากเท่าการอุดด้วยอมัลกัม ซึ่งเป็นผลดีต่อโครงสร้างฟันได้ในระยะยาว แต่มีข้อด้อยจากการเปลี่ยนสีหรือการติดสีลงบนผิววัสดุอุด อัตราการสึกกร่อน การรั่วซึม อาจจะสูงกว่าวัสดุอุดอมัลกัม แต่หากระมัดระวังในการใช้งาน หลีกเลี่ยงการกัดเคี้ยวอาหารแข็ง แปรงฟันและใช้ไหมขัดฟันเพื่อกำจัดแผ่นคราบจุลินทรีย์ให้สะอาด อายุการใช้งานของวัสดุอุดก็จะใกล้เคียงกับการอุดด้วยอมัลกัมได้เช่นกัน

  • กลาสไอโอโนเมอร์ เป็นวัสดุอุดที่มีส่วนประกอบสำคัญ คือ ผลึกของแก้วและฟลูออไรด์ มีสีขาวครีมคล้ายฟันธรรมชาติ แต่เฉดสีมีให้เลือกน้อยกว่าคอมโพสิท เรซิน และมีข้อด้อยในด้านความแข็งแรง ดังนั้นจึงเลือกใช้วัสดุอุดชนิดนี้ ในตำแหน่งที่ไม่รับแรงในการบดเคี้ยว และเพื่อหวังผลในการป้องกันการเกิดฟันผุซ้ำมากกว่าความสวยงาม

การเลือกใช้วัสดุอุดชนิดใดนั้น ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย ทั้งความต้องการของผู้รับบริการในด้านความสวยงาม , ลักษณะของโพรงฟัน , พฤติกรรมการกัดเคี้ยวอาหาร , การดูแลสุขภาพช่องปากของผู้รับบริการ หากท่านพิจารณาปัจจัยเหล่านี้ร่วมกับทันตแพทย์ก่อนรับการรักษาจะทำให้ท่านทราบถึงชนิดของวัสดุอุดที่เหมาะกับฟันซี่นั้น ๆ และข้อควรปฎิบัติเพื่อดูแลวัสดุอุดให้มีอายุการใช้งานได้ยาวนานที่สุด

ขั้นตอนการอุดฟัน

  • กรอตัดผิวฟันที่มีรอยผุออก ( หากฟันผุลึกอาจจะเลือกใช้ยาชาก่อนการกรอ เพื่อหลีกเลี่ยงอาการเสียวฟันในระหว่างกรอ )

  • ในกรณีฟันผุลึก ใกล้โพรงประสาทฟัน จะใส่ยาป้องกันการอักเสบของโพรงประสาทฟันไว้ชั้นหนึ่งก่อน และใช้วัสดุที่เป็นฉนวนกันความร้อน , ความเย็น อุดทับอีกชั้นหนึ่ง
  • ปิดโพรงทั้งหมดด้วยวัสดุอุดที่เลือกใช้
  • ขัดแต่งวัสดุอุดให้ได้รูปร่างที่ดีมีผิวเรียบ , มัน เพื่อป้องกันการเกาะติดของแผ่นคราบจุลินทรีย์
สำหรับกรณีอื่น ๆ ที่ไม่ใช่ฟันผุ จะกรอแต่งผิวฟันเพียงเล็กน้อยเท่านั้น แล้วใช้วัสดุอุดคอมโพสิท เรซิน หรือกลาสไอโอโนเมอร์อุดปิดบริเวณดังกล่าว

การดูแลรักษาฟันที่ได้รับการอุดให้มีอายุการใช้งานที่ยาวนาน

  • ควรปฏิบัติตามคำแนะนำของทันตแพทย์เกี่ยวกับข้อจำกัดในการกัดเคี้ยวอาหารของวัสดุในโพรงฟันแต่ละซี่ ( วัสดุอุดในโพรงฟันที่ใหญ่ จะมีข้อจำกัดในการกัดเคี้ยวมากกว่าโพรงฟันที่เล็ก )
  • ควรทำความสะอาดฟันโดยการแปรงฟันหลังมื้ออาหารทุกครั้ง และใช้ไหมขัดฟันอย่างน้อยวันละ 1 ครั้ง เพื่อป้องกันการก่อตัวของแผ่นคราบจุลินทรีย์บริเวณขอบวัสดุอุด ซึ่งเป็นการลดโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดรอยผุซ้ำ หรือการติดสีและ เปลี่ยนสีของวัสดุอุด ( หากทานอาหารที่มีความเป็นกรดสูง เช่น อาหารรสเปรี้ยว, อัลกอฮอล์, น้ำอัดลม ควรดื่มน้ำตามมาก ๆ และรอประมาณ 30-60 นาที จึงแปรงฟัน เพื่อป้องกันการสึกกร่อนของผิวฟัน )
  • กรณีฟันผุลึกมาก อาจมีอาการเสียวฟันภายใน 3 - 4 สัปดาห์แรกหลังการอุด ( reversible pulpitis ) ท่านสามารถหลีกเลี่ยงอาการดังกล่าวได้โดยการงดอาหารที่เย็นหรือร้อนจัด แต่หากมีอาการเสียวฟันรุนแรง หรือมีอาการมากกว่า 4 สัปดาห์ ( irreversible pulpitis ) ควรพบทันตแพทย์เพื่อวินิจฉัย และให้การรักษาต่อเนื่องทันที
  • ควรตรวจสุขภาพฟันโดยทันตแพทย์ทุก 6 เดือน หากพบความผิดปกติของวัสดุอุดเพียงเล็กน้อยในบางกรณีอาจจะเพียงพิจารณาขัดแต่งวัสดุอุด ก็สามารถช่วยยืดอายุการใช้งานของวัสดุอุดได้อีกยาวนาน

Inlays และ Onlays เป็นชิ้นงานทางทันตกรรม ที่ใช้สำหรับบูรณะลงบนโพรงฟัน หรือทดแทนเนื้อฟันที่สูญเสียไปบางส่วนในตำแหน่งฟันกรามและฟันกรามน้อย ซึ่งมีความแข็งแรงและอายุการใช้งานที่ยาวนานกว่าวัสดุอุด นับเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่ใช้ทดแทนเนื้อฟันที่สูญเสียไปไม่มากจนถึงขั้นที่จะต้องทำครอบฟัน

Inlays เป็นชิ้นงานที่ใช้สำหรับบูรณะโพรงฟันที่เกิดภายในขอบเขตด้านบดเคี้ยวของซี่ฟัน มีผนังด้านข้างโพรงฟันที่แข็งแรงพอต่อการยึดโดยรอบ

Onlays เป็นชิ้นงานที่ใช้สำหรับบูรณะโพรงฟันที่คลุมผนังด้านใดด้านหนึ่งหรือหลายด้านของซี่ฟัน

ประเภทของ Inlays และ Onlays

  • Inlays และ Onlays แบ่งออกได้เป็น 3 ชนิดหลัก ตามชนิดของวัสดุที่ใช้ทำ ดังนี้
  • Resin Inlays/Onlays


  • Ceramic Inlays/Onlays


  • Gold Inlays/Onlays

Resin และ Ceremic Inlays/Onlays เป็นชิ้นงานที่ให้ความสวยงามใกล้เคียงฟันธรรมชาติมากกว่าการอุดฟันด้วยวัสดุสีใกล้เคียงกับฟัน เพราะเป็นการทำชิ้นงานภายนอกช่องปาก จึงสามารถตกแต่งรายละเอียดของชิ้นงานได้ดีกว่า นอกจากนี้ยังมีความคงทนและอายุการใช้งานยาวนานกว่าวัสดุอุดสีเหมือนฟัน แต่การทำ Inlays/Onlays จำเป็นต้องมีการกรอแต่งโพรงฟันให้เป็นมุมผายเล็กน้อยโดยรอบโพรงฟัน และผนังฟันจะต้องมีความหนาและความแข็งแรงพอต่อการยึดของชิ้นงาน จึงทำให้สูญเสียเนื้อฟันมากกว่าการอุดด้วยวัสดุอุดสีเหมือนฟัน

ส่วน Gold Inlays/Onlays เป็นชิ้นงานที่มีความแข็งแรงมากกว่า Resin และ Ceremic Inlays/Onlays เหมาะสำหรับตำแหน่งฟันที่ไม่เน้นในด้านความสวยงาม

ขั้นตอนการทำ Inlays/Onlays

  • กรอแต่งโพรงฟันภายใต้ยาชาเฉพาะที่
  • พิมพ์ปากเพื่อทำแบบจำลอง และส่งแบบจำลองฟันไปยังห้องแลป เพื่อให้ช่างทันตกรรมทำชิ้นงาน
  • อุดโพรงฟันด้วยวัสดุอุดชั่วคราว สำหรับใช้งานประมาณ 5-7 วัน
  • หลังจาก 5-7 วัน ทันตแพทย์ลองชิ้นงาน และปรับแต่งให้เหมาะสมกับสภาพการสบฟันของผู้รับการรักษา

  • ยึดติด Inlays/Onlays อย่างถาวรด้วยวัสดุยึดติดทางทันตกรรม

ข้อควรปฏิบัติและการดูแลหลังเข้ารับการทำ Inlays/Onlays

  • ควรหลีกเลี่ยงการกัดเคี้ยวอาหารแข็งในตำแหน่งฟันซี่ที่ทำ Inlays/Onlays เป็นเวลา 24 ชั่วโมง หลังการยึดติด
  • อาจมีอาการเสียวฟันหรือเหงือกบวมเกิดขึ้นได้ในผู้รับการรักษาบางท่าน ซึ่งอาการดังกล่าวจะหายได้เองภายในเวลาไม่นาน และท่านสามารถหลีกเลี่ยงอาการเหล่านี้ได้โดย
    1. บ้วนปากด้วยน้ำเกลือหลังการแปรงฟันทุกครั้ง
    2. หลีกเลี่ยงการดื่ม หรือรับประทานอาหารที่เย็นจัดหรือร้อนจัด
  • ควรหลีกเลี่ยงการกัดเคี้ยวอาหาร เช่น น้ำแข็ง, กระดูกอ่อน, ถั่วแข็งๆ ในกรณีที่ใช้ Resin หรือ Ceremic Inlays/Onlays เพราะชิ้นงานอาจบิ่นหรือแตกออกได้
  • ควรทำความสะอาดโดยการแปรงฟันหลังมื้ออาหารทุกครั้ง และใช้ไหมขัดฟันอย่างน้อยวันละ 1 ครั้ง
  • ควรตรวจสุขภาพฟันโดยทันตแพทย์ทุก 6 เดือน